วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เทคนิคการวาดภาพสีน้ำมัน landscape

วางแผนคือเราต้องจินตนาการให้เห็นภาพที่เสร็จแล้วของเรา
ใช้จินตนาการจ้องมองเข้าไปในเฟรมที่โล่งและขาวอันนี้
นี่แหละครับกระบวนการนี้คงต้องผ่านการสเก็ตซ์หาแบบกันก่อน
แต่ถ้ามีภาพอยู่ในหัวแล้วก็ลุยเลย
สเก็ตซ์บนนั้นเลย ย้ำอีกครั้งนะครับค่อยๆทำไม่ต้องรีบหรือเร่งแต่ประการใดค
เพราะการวาดภาพสีน้ำมันถ้า แบบเราไม่แน่นอนแล้ว งานศิลป์ของเราคงต้องล้มพับนอนหงายเก๋ง
หาทางออกเพื่อทำให้ภาพจบได้อย่างแสนอยากเย็น
แต่ก็ยังดีกว่าสีน้ำแหละครับ เพราะสีน้ำมันยังแก้ไขได้ ลงสีทับได้
ส่วนสีน้ำ ถ้าแบบไม่ชัวร์จิตใจลังเลก็เรียบร้อยเลยครับ ภาพเจ๊งเลย
มาดูการร่างรูปนี้บ้างนะ
ก่อนอื่นต้องหาเส้นระดับสายตาของภาพก่อน
เมื่อวางตำแหน่งได้แล้วก็ทำการร่างด้วยมุมมองแบบ perspective
สาเหตุที่ทำแบบนี้ก็เพราะจะไม่ทำให้ภาพของเราดูแปลกๆทั้งจม ทั้งเอน เบี้ยว จนผิดตา
อย่างภาพนี้ตีฟ(perspective)ของบ้าน จะต้องเปลี่ยนจากแบบหมด
อีกทั้งแสงและเงาก้อยู่คนละทิศทางกับภาพรวม จึงต้องปรับเปลี่ยใหม่ทั้งหมด

เมื่อกำหนดเส้นได้พอประมาณแล้วก็ทำการร่างภาพแบบคร่าวๆก่อน
ด้วยการประมาณด้วยสายตาและขนาดของวัตถุด้วยตีฟทางสายตาของเราเอง



จากนั้นก็เก็บรายละเอียดการร่างไปเลย
ดูภาพก่อนว่าเราจะให้ตรงไหนเป็นพระเอก และจุดรวมสายตา
ยังไม่ต้องรีบร้อนลงสีนะครับ สำรวจตรวจสอบให้แน่นอนก่อน
นั่งมองสักวันเต็มๆก็ได้ แต่ไม่ต้องถึงกับนั่งน้ำยายยืดนะคุบ(ซูบววว์.. ซดน้ำลายกลับ อิอิ)
มองไปเรื่อยๆแล้วเราจะเห็นข้อผิดพลาดตรงโน้นนิด นี่หน่อย
ค่อยๆแต่งแต้ม ไปจนกระทั่งมั่นใจ แล้วค่อยถอยออกมาพักหายใจก่อน เฮ้อ!รอดไปหนึ่งขั้นตอน

คราวนี้ก็เตรียมอุปกรณ์ก่อน
เรียกว่าต้องเอาให้พร้อม เพราะเวลาเขียนๆอยู่แล้วต้องหาของโน้น นี่ นั่น
มันจะทำให้สมาธิกระเจิงไม่เกิดการต่อเนื่อง
ลงพื้นอยู่ดีๆมัวหาลินซีส พอหาเจอ อ่ะ ..ถึงไหนหว่า(ประจำ)
อุปกรณ์มีอะไรบ้างมาดูกัน

1. สีน้ำมัน(Oil colour)
- การวาดภาพสีน้ำมันจะใช้ยี่ห้ออะไรก็ได้ครับตามสะดวก แต่ผมจะใช้ปนๆกัน(เพราะไปซื้อแล้วไม่มี)
ผมจะแยกให้นะครับว่าตามที่ผมเคยเขียนมานั้นผมใช้แบบไหน ส่วนใครจะชอบยังไงตามถนัดเลยครับ
บางคนอาจไม่ชอบแบบผมเลยก็ได้ และที่ใช้อยู่มีสองยี่ห้อ
ROWNEY - ผมว่าจะออกลักษณะเจลจะมากไปหน่อยน่ะครับและสีก็สดใช้เขียนLandscapeนอกสถานที่ได้เหมาะทีเดียว
Winsor & Newton - ยี่ห้อนี้ผมจะชอบมากครับเนื้อสีแน่นละเอียดดีแบบนี้เหมาะกับ Portraitครับ
นอกนั้นก็ตามสะดวกเลยครับมีหลากหลายยี่ห้อแต่ผมเคยใช้แต่สองแบบนี้น่ะ
2.น้ำยาผสม หรือ ลินซิส(Linseed)มีอีกสองแบบที่ผมใช้อยู่ครับ(อาจมีมากกว่านั้นก็ได้)
แบบที่ว่านี้คือ
-แบบธรรมดา ซึ่งแบบนี้ต้องคอยเป็นเวลาอย่างต่ำก็สามวันแหละครับถึงจะแห้ง(ขึ้นอยู่กับความดูดสีของผ้าใบด้วย)
สำหรับลินซิสแบบนี้เหมาะสำหรับการเก็บรายละเอียดของงานแบบเปียก(สียังไม่แห้งง่ายๆ) ปัดไปถูไปเพิ่มสีไปได้
-แบบแห้งเร็ว(Liquin) แบบนี้จะใช้ผสมกับแบบแรกเพื่อให้แห้งเร็วขึ้นก็ได้
หรือจะใช้เพียวๆในบางจุดหลังเก็บงานตอนหมาดๆหรือแห้งก็ได้ตามแต่ลักษณะการเก็บงานหรืองานที่เร่งๆ

3.น้ำมันสน เอาไว้ล้างพู่กัน
4.พู่กันอ่ะดิ๊ มีทั้งแบบแบนและกลมครับ เอาไว้ใช้ตามลักษณะของงาน
-พู่กันแบน เอาไว้เก็บงานพื้นที่ใหญ่ และสีโดยรวมทั้งภาพ
-พู่กันกลม เอาไว้เก็บรายละเอียดของงานหรือเอาไว้ปัดรอยต่อของสีให้เนียนเรียบหากัน

5.เกียงผสมสี (ก็เอาไว้ผสม+ขูดจานสีไง)

6.ขาตั้งรูป มีไว้สะดวกดีครับทั้งการปรับตำเหน่งหรือการวางของ

7.ตู้วางสี ถ้าไม่มีใช้อะไรก็ได้ครับแต่ถ้ามีก็สะดวกดีมีไว้สำหรับการเก็บสีและเป็นจานสีได้ด้วย
(ของผมจานสีใช้กระจก)

8.ผ้าเช็ดพู่กัน(ห้ามเอาเช็ดหน้า)

9.เก้าอี้ กับห้องทำงาน
 
จากนั้นก็เริ่มสีน้ำหนักที่สองหรือระยะที่สอง
ใช้สีตามระยะก่อนนะ (หน้า กลาง หลัง)พยายามเบรคสีให้อยู่โทนเดียวกันทั้งภาพ
ก่อนที่จะควักสีขาวออกมาผสมสีในจานสีพร้อมกับการเบรคสีไปในตัว
ลงไปเรื่อยๆจนเต็มภาพ อย่าให้เป็นก้อนสีหรือเห็นรอยผ้าใบนะ
เพราะถ้าสีแห้งแล้วจะตามมาเก็บสีแบบเดิมค่อนข้างลำบาก

เมื่อลงพื้นเสร็จเรียบร้อยก็รอครับ เก็บโน้นนิดนี่หน่อยไปเรื่อยๆ
อย่าใจร้อนนะครับ ที่เรากำลังทำอยู่นี้เป็นการวาดภาพสีน้ำมันแบบเขียนเปียกน่ะ(ไม่รู้ว่าศัพท์วิชาการเขาเรียกว่าอะไร)



รออีกวันต่อมาเราต้องมาคอยดูสี
ว่ามันหนึบๆหรือว่ายังไม่มีทีท่าจะแห้งหรือแห้งเรียบร้อยไปแล้ว
ตอนนี้ก็เรียกว่าเก็บงานตอนหมาดๆล่ะ
คือสีต้องหมาดๆไม่เปียกหรือแห้งสนิท
เราค่อยๆเพิ่มเติมเข้าไปครับสีบางส่วนที่จมอยู่สามารถคัดสี*ขึ้นมาได้เลย
(*คัดสี คือ การลงสีเดิมเก็บทับเพื่อเน้นบางส่วนให้เด่นขึ้น)
ถึงตอนนี้ก็เริ่มใช้พู่กันกลมแล้วล่ะ แบนๆกลมสลับกันไปตามความถนัดและจังหวะของสี



เก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆครับกับจังหวะสีที่หนึบๆ
เพราะการวาดภาพสีน้ำมันกับสีที่หนึบหนับจะทำให้สีที่เราเพิ่มไปนั้นยังซอฟเป็นส่วนหนึ่งของงานอยู่ครับ
เก็บไปเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า น้ำหรือเขา ทีละนิดทีละหน่อย ทีละส่วน
ค่อยๆไป ค่อย ค่อยไป





อีกวันต่อมาหรือสองวันหลังจากที่เราเก็บไปเรื่อยๆเล็งแล้วเล็งอีกเล็งอีกก้เล็งแล้ว
จะตีลังกาเล็งจนตาเอียง ตัว หัว เอียงไปตามๆกัน
ก็มาถึงตอนเก็บแห้งซะที
การวาดภาพสีน้ำมันแบบเก็บแห้งคือการคัดเพิ่มสีให้เด่นขึ้นมาครับ
จะเป็นการเก็บรายละเอียดของภาพเล็กๆน้อยๆ
จากพื้นที่ใหญ่ๆที่เราลงไปหมดทั้งเฟรมแล้ว คุมโทนสีได้แล้ว
เราก็ค่อยๆเก็บไปเรื่อยๆ


จากนั้นก็รออีกรอบ
รอจนเมื่อทุกอย่างแห้ว เอ๊ย!แห้งสนิทก็ทำการเคลือบ Picture Varnish Glossy
ต้องเคลือบงานกันหน่อยครับเพราะว่าไม่งั้นสีที่เราลงภาพไปนั้น จะมันหรือด้านไม่เท่ากันทั้งภาพครับ
สาเหตุเพราะการที่เราทับสีหรือการเก็บหมาดเก็บแห้งนั่นเอง

วาดเส้น ลอกภาพ ลงสีดอกกุหลาบ

วาดเส้น ลอกภาพ ลงสีดอกกุหลาบ
เริ่มจากการคะเนลักษณะของดอกด้วยรูปทรงง่ายๆ จากนั้นจึงร่างกลีบด้วยการแบ่งส่วนดอกโดยใช้เส้นง่ายๆก่อน แล้วจึงตกแต่งเส้นให้สวยงาม
 
เติมกลีบเลี้ยง ก้านชูดอก กำหนดตำแหน่งใบชุดที่ 1 ด้วยเส้นกลางใบ แล้ววาดเส้นรอบรูปของใบตาม
 
จากนั้นจึงวาดใบชุดต่อๆมา

จนเป็นภาพสำเร็จ

แล้วจึงลอกภาพลงกระดาษสำหรับสีน้ำและลงสี
สำหรับกระดาษที่ใช้ จะใช้กระดาษสำหรับวาดภาพสีน้ำโดยตรง หรือกระดาษสำหรับวาดสีอะคริลิคแต่นำมากลับด้านหลังวาดเอาก็ได้ค่ะ (เช่นเวลาจะวาดคาร์ดทำมือ อาจใช้กระดาษสำหรับสีอะคริลิคซึ่งมีความหนาสูงสุดถึง 400 แกรม ความหนาของกระดาษจะสะดวกต่อการทำงาน และเหมาะจะส่งทางไปรษณีย์มาก)
อุปกรณ์ในการทำงานก็มี ดินสอ HB กระดาษลอกลาย ยางลบดินสอ เทปใส
เริ่มจากเมื่อวาดภาพที่ต้องการเสร็จแล้ว ลอกภาพด้วยกระดาษลอกลายและดินสอดำก่อน

พลิกด้านหลังของกระดาษที่ลอกลายไว้แล้วขึ้น ใช้ดินสอดำฝนคร่อมทับลายเส้นที่เห็นจนทั่ว

ภาพนี้แสดงภาพด้านหน้าและด้านหลังของกระดาษที่ฝนดินสอทับลายเส้นเสร็จแล้ว

นำกระดาษลอกลายที่ฝนทับลายเส้นด้านหลังแล้ว ไปวางบนกระดาษที่ต้องการวาดภาพ โดยวางด้านหน้าของกระดาษขึ้น อาจใช้เทปใสช่วยยึดเพื่อกันเลื่อน แต่ควรระวังในการลอกเทปออก อย่าให้เทปทำลายหน้ากระดาษสีน้ำ ใช้ดินสอวาดทับตามเส้นอีกครั้ง แรงกดของดินสอ จะผลักสีดำของรอยฝนที่ด้านหลังให้ไปเกิดเป็นลายเส้นบนกระดาษ


เมื่อยกกระดาษลอกลายออก จะเห็นภาพวาดเพียงลางๆ

ที่พร้อมให้เราลงสีค่ะ
                                                               

สีที่ใช้ ใช้สีเหลืองมะนาว ส้มอมแดง ม่วงแดง หากดอกบานเร็ว เกรงว่าเมื่อวาดเสร็จแล้ว ดอกจะค่อยๆบานจนรูปร่างเปลี่ยนแปลง แสงเงาอาจเปลี่ยนไป จนไม่ทราบว่าจะลงสีอย่างไร ก็ใช้ดินสอลงแสงเงาคร่าวๆ ไว้ก่อนก็ได้ค่ะ (ไม่ต้องกังวลว่าจะแรเงาไม่สวย เราทำงานคนเดียว ทำแบบที่ว่ารู้คนเดียวก็ได้) การแรเงา นอกจากจะเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ยังช่วยฝึกการสังเกตุตำแหน่งของแสงเงาอีกด้วย
 
การลงสี สีที่ใช้มีสีเหลืองมะนาว  สีม่วงแดง  สีส้มอมแดง
ให้สีเหลืองมะนาวที่ผสมให้สี อ่อนลงเป็นสีที่ 1, ผสมสีม่วงแดงในสีมะนาวเล็กน้อย(ไม่เกิน 5 %) จนเป็นสีเหลืองที่คล้ำขึ้น ให้เป็นสีที่ 2, ส่วน สีส้มอมแดง เป็นสีที่ 3
      
       สี 1                  สี 2                      สี 3
การวาดภาพพฤกษศาสตร์จริงๆ เนื่องจากแทบจะเป็นการ “ถ่ายภาพ” พืชพรรณตามธรรมชาติด้วยสี จึง ไม่นิยมเว้นพื้นที่ให้เห็นเป็นสีขาวของกระดาษค่ะ เพราะในธรรมชาติเราคงหาลักษณะอย่างนั้นในพืชแทบไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่เคร่งครัด ว่าเราไม่ใช่ Botanical Artist ที่กำลังวาดภาพวาดพฤกษศาสตร์ ภาพที่วาดไม่จำเป็นต้องเหมือนธรรมชาติเสียทีเดียว ถ้าจะเว้นให้เห็นสีขาวของกระดาษบ้าง ก็แล้วแต่ความชอบใจค่ะ
เวลาทำงาน ดิฉันมักใช้พู่กัน 2 อัน ในขณะเดียวกัน  อันหนึ่งสำหรับแต้มสีลงในพื้นที่ทำงาน อีกอัน เป็นพู่กันชื้น ไว้ใช้สำหรับเกลี่ยสีให้กลมกลืนไปกับพื้นเดิม
เราจะ ลงสีไปทีเดียวทั้งภาพ แล้วค่อยๆแต่งเป็นส่วนๆค่ะ  โดย ผสมสีเหลืองกับน้ำจนเป็นสีที่ค่อนข้างจาง นำมา ทาให้เต็มดอก ทิ้งให้แห้ง (1)

แล้วจึงเริ่มแต่งเงาทีละกลีบ โดยทาน้ำลงในเฉพาะกลีบที่จะทำงาน ใช้พู่กันอันหนึ่งแตะสี 2  ลงในตำแหน่งเงา ใช้พู่กันชื้นอีกอัน เกลี่ยเงาให้กลมกลืน ทำจนเต็มดอก (2)

จากนั้นจึงแต่งสีของ ขอบกลีบดอก โดยขอบกลีบที่พับงอ ทาน้ำให้ในบริเวณที่จะทำงานให้เต็ม แล้วแต้มสี 3 ลงไป ปล่อยให้สีกระจายไปตามน้ำ (3)
 
สำหรับขอบกลีบปกติ ทาน้ำให้มีพื้นที่มากกว่าพื้นที่ที่จะลงสี แต้มสี 3 ตามปลายกลีบ เนื่องจากเราตั้งกระดาษให้เอียงเล็กน้อยอยู่แล้ว สีจะค่อยๆซึมลงไปสู่ภายในตัวกลีบดอกเอง แต่อาจใช้ปลายพู่กันเกลี่ยช่วยบ้างก็ได้ เมื่อเติมสีขอบกลีบจนเต็มดอกแล้ว (4)

จึงเติมเงาดอกเพิ่มเพื่อให้ ดอกดูมีมิติขึ้นด้วยสี 2  โดยใช้พู่กันอันหนึ่งแต้มสีลงไปในตำแหน่งที่ต้องการ แล้วใช้พู่กันชื้นอีกอันรีบเกลี่ยให้สีกลมกลืนไปกับพื้นเดิม โดยจะทาน้ำก่อนหรือไม่ก็ได้ (5)
 
 เมื่อลงสีดอกเสร็จ ก็มาลงสีใบค่ะ
การลงสีใบด้วยวิธีนี้ แม้จะไม่มีเส้นใบ แต่เราใช้ก็วิธีนี้ได้ตามต้องการ หากยังไม่สามารถควบคุมความชื้นในพู่กัน หรือกะเวลารอภาพหมาดพอเหมาะ เพื่อลากพู่กันชื้นผ่านใบ ให้เกิดเป็นเส้นใบได้ การทำงานด้วยวิธีนี้จะเหมาะมากค่ะ
 
เริ่มจากทาสีฟ้าจางๆลงในตัวใบเพียงครึ่งซีก
 
รีบแตะสีเขียวอมเหลืองที่ค่อน ข้างข้นลงไป โดยใช้พู่กันปลายค่อนข้างแหลม ลากสีเป็นรอยสั้นๆออกจากด้านข้างของใบเพื่อสร้างรอยหยักของขอบใบ แล้วเติมสีนี้ลงในตัวใบเช่นกัน ทิ้งบางส่วนให้เห็นเป็นสีฟ้าเดิมไว้ เพื่อให้เป็นบริเวณแสงจัด (ควรเว้นเป็นแนวฝกล้ขอบใบ ด้านใดด้านหนึ่งด้วย เพื่อให้ตัวใบดูมีความหนา)
 
รีบแต้มสีเขียวเข้มตามในขณะที่สียังหมาดอยู่ เพื่อให้สีผสานกันดี
  
ใช้พู่กันแตะสีเขียวเข้มนี้ ผสมกับสีแดงเล็กน้อย เพื่อให้ได้สีเขียวที่เข้มขึ้น แต้มลงในบริเวณที่เป็นเงามืด
 
  
ทาสีฟ้าที่บนใบอีกซีก เว้นช่องว่างห่างจากใบซีกแรกให้เป็นแนวบางๆ (เพื่อที่เมื่อวาดเสร็จ เราจะเติมสีเหลืองอมเขียวอ่อนๆ เพื่อให้เป็นเส้นกลางใบ)
 
 ทาสีใบอีกซีกด้วยวิธีเดิม
เมื่อวาดเสร็จทั้งภาพ จึงค่อยเติมสีตรงแนวที่เว้นไว้ จนได้ภาพที่เสร็จสมบูรณ์

วาดเส้น (Drawing)

       วาดเส้น (Drawing) เป็นวิธีการสร้างภาพโดยวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว  เพื่อ สื่อความหมายทางการเห็นขั้นเริ่มแรกของมนุษย์ด้วยปัจจัยขั้นพื้นฐาน คือ ร่องรอยต่าง ๆ และเครื่องมือง่าย ๆ ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ถ่าน เศษไม้ หรือแม้แต่นิ้วมือของตนเอง  ซึ่งมนุษย์ต้องการแสดงออกในบางอย่างที่เป็นส่วนตนออกมาให้ปรากฏ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความนึกคิด อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้แต่ร่องรอยง่าย ๆ ที่ทำขึ้นมาเอง 
         วาดเส้นเป็นพื้นฐานของงานทัศนศิลป์และออกแบบ  เช่น  จิตรกรรม  ประติมากรรม  ภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรม  ออกแบบตกแต่ง  ศิลปะไทย  ลายรดน้ำ  เป็นต้น ก่อนที่เราจะสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่าง ๆ ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น จำเป็นจะต้องมีความชำนาญทางการวาดเส้นให้แม่นยำเสียก่อน  เมื่อมีความชำนาญทางการวาดเส้นแล้วก็จะทำให้การทำงานศิลปะต่าง ๆ ง่ายขึ้น

วัสดุอุปกรณ์ในการวาดเส้น
         ๑. กระดานรองเขียน ขนาด ๔๐ x ๖๐ เซนติเมตรโดยประมาณ ความหนาประมาณ ๔ มิลลิเมตร


         ๒. กระดาษ กระดาษสำหรับวาดเส้นมีหลายชนิด สามารถเลือกใช้ได้ ตามเทคนิคของการวาดเส้น ซึ่งต้องดูคุณสมบัติและความเหมาะสม เช่น น้ำหนัก การซึมซับ และผิวสัมผัส


        
๓. ยางลบ


         ๔. ตัวหนีบกระดาษ

         ๕. มีดเหลาดินสอ

         ๖. เครื่องเขียน อาจแบ่งออกเป็น
             ๖.๑ ถ่าน  มีคุณลักษณะต่างกันเนื่องจากความละเอียด ความแข็งของเนื้อถ่าน เช่น

                   - ถ่านไม้  เป็นถ่านมีความแข็ง เปราะ คุณสมบัติในการวาดให้น้ำหนักอ่อนแก่ที่นุ่มนวลได้ค่อนข้างมาก  เหมาะ สำหรับการเขียนแสงเงาที่นุ่มนวล และเงาที่เป็นพื้นที่กว้าง เช่น การเขียนภาพคนเหมือน ภาพเปลือย ทิวทัศน์ และภาพหุ่นนิ่งต่าง ๆ มีส่วนช่วยจับลักษณะแสงเงาส่วนรวมเหมาะกับการเขียนลงบนกระดาษปรู๊ฟ (
Proof) หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ 
                    - ถ่านแท่ง หรือ เกรยอง (Crayon) เป็นถ่านแท่งสี่เหลี่ยมมีความแข็งปานกลาง สามารถสร้างเงาที่นุ่มนวล เกรดที่นิยมใช้ทั่วไปคือ B และ 2B มีหลายสีแต่ที่นิยมคือสีดำ  เพราะเน้นน้ำหนักแสงเงาได้ชัดเจนกว่าสีอื่น  เหมาะสมกับการเขียนลงบนกระดาษขาวทั่วไป 
                   - ดินสอถ่าน (Carbon pencil) เป็นถ่านที่บรรจุไว้ในไส้ดินสอมีน้ำหนักความเข้มเช่นเดียวกับถ่านไม้  สามารถใช้วาดภาพวัตถุที่มีรายละเอียดมาก 
             ๖.๒ ชอล์ก (Chalk) ลักษณะเป็นแท่งกลม มีหลายสีเหมาะสมกับการเขียนบนกระดาษสีเข้ม เช่น สีน้ำตาล สีเมา สีเขียว ฯลฯ 
             ๖.๓ ดินสอ (Pencil) เป็นอุปกรณ์พื้นฐานของการวาดเส้นในปัจจุบัน ง่ายต่อการขนย้าย สามารถลบออกได้ มีทั้งไส้อ่อนและไส้แข็ง 
             ๖.๔ หมึก (Ink) สีที่นิยมใช้ในการวาดเส้นคือ สีดำ สีน้ำตาล ควรเลือกใช้กระดาษที่มีความหนา เช่น ๘๐ ปอนด์ หรือ ๑๐๐ ปอนด์  จะใช้ผิวเรียบ หรือหยาบก็ได้  โดยมีอุปกรณ์อื่นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น แปรง พู่กัน ปากกา สันไม้ ไม้ทุบปลาย เป็นต้น 
         สิ่งที่ควรฝึกตนเองก่อนเริ่มลงมือวาดรูป ขั้นแรกให้หัดเขียน เส้นนอน เส้นตั้ง เส้นเฉียง ซ้ำ ๆ กันให้คล่องมือ
         หลังจากนั้นให้หัดแรเงาตามรูปทรง  โดยใช้เส้นตรงวางให้ชิดเป็นแนวเดียวกัน ใช้วิธีเหวี่ยงข้อมืออย่างเร็วทั้งขึ้นและลง

         ฝึกเขียนเลียนแบบจากที่สายตามองเห็น  และลองขยายต้นแบบให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และย่อส่วนจากแบบ สามารถทำให้เกิดภาพลวงตา บอกระยะได้

         การฝึกสมาธิให้ใจสัมพันธ์กับมือ  โดยการลงซ้ำบนรอยเดิมค่อย ๆ ทำเวลาให้เร็วขึ้น

ก่อนเขียนรูปควรสังเกตดูลักษณะของหุ่น            
         ๑. รูปทรง ขนาด ระยะ สังเกตรูปทรงและขนาดของภาพให้ดี  หากเราย่อหรือขยายสัดส่วนโดยสังเกตจากหุ่นที่ใกล้เคียง เปรียบเทียบ ขนาด ระยะ ความสูงต่ำ 
         ๒. แสงและเงา ทิศทางที่แสงตกกระทบหุ่น แสงมีหลายลักษณะ คือ
             - แสงสว่างที่สุด (
Highlight) อยู่ในส่วนที่รับแสงโดยตรง
             - แสงสว่าง (Light) อยู่ในส่วนรับอิทธิพลของแสง
             - เงา (Shadow) อยู่ในส่วนรับอิทธิพลของแสงน้อยมาก
             - เงามืด (
Core of Shadow) อยู่ในส่วนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงเลย
             - แสงสะท้อน (Reflects Light) บริเวณของวัตถุที่ไม่ได้รับแสงโดยตรง แต่เป็นการสะท้อนของแสงจากวัตถุใกล้เคียง
             - เงาตกทอด (Cast Shadow) บริเวณที่เงาของวัตถุนั้น ๆ ตกทอดไปตามพื้นหรือตามวัตถุอื่นที่รองรับน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน
         ๓. ผิว  สังเกตหุ่นว่ามีลักษณะผิวอย่างไร เช่น
             - ผิวด้าน เช่น กิ่งไม้แห้ง ใบไม้แห้ง เครื่องปั้นดินเผา หุ่นผิวลักษณะนี้แสงจะต้องนุ่มนวล จากแสงอ่อนไปจนถึงแก่จัด
             - ผิวมัน เช่น ผลไม้สด เซรามิค ภาชนะพลาสติก  หุ่นผิวประเภทนี้จัดเป็นจุดและแสงจะต้องขาวไม่ว่าหุ่นจะเป็นอะไรก็ตาม
             - ผิวใส เช่น แก้วน้ำ ขวดใส ถุงพลาสติกใส่อาหาร โหลแก้ว  หุ่นประเภทนี้ต้องเขียนให้ใสมองทะลุถึงวัตถุที่อยู่ด้านหลังของหุ่นจะมีความแวววาวมาก
         ๔. น้ำหนัก
 
         ๕. องค์ประกอบของภาพ คือ การจัดวางภาพและหน้ากระดาษให้เหมาะสมกัน โดยไม่ให้ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป



ลำดับขั้นในการสร้างงานวาดเส้น  
         ๑. ขั้นเตรียมการ ได้แก่ การเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมในการวาดภาพ  การเตรียมใจ หมายถึง มีใจพร้อมที่จะวาดภาพ  และการเลือกมุมมอง  ดูทิศทางที่แสงเข้าและเงาตกทอดที่ชัดเจน
         ๒. ขั้นร่างภาพ  การร่างภาพเป็นส่วนสำคัญของการวาดเส้น  เพราะถือว่าเป็นการเริ่มต้นของโครงร่างของภาพทั้งหมด  ถ้าร่างได้เหมาะสมกับหน้ากระดาษ การลงน้ำหนักหรือแรเงาจะง่ายขึ้น  เริ่มแรกคือการหาส่วนรวมของภาพ จะทำให้เรากำหนดตำแหน่งของส่วนละเอียดให้ถูกต้องขึ้น
         ๓. ขั้นลงน้ำหนัก  เพื่อให้การลงน้ำหนักเหมือนของจริง ต้องสังเกต น้ำหนัก แสงและเงาในตัววัตถุที่เราเตรียมลงน้ำหนัก ดูจากข้อแสงและเงา  การลงน้ำหนักมี ๒ ลักษณะ คือ
             - การลงน้ำหนักตามหลักการของแสงอาทิตย์  ลงน้ำหนักให้แสงเงาเหมือนจริง
             - การลงน้ำหนักตามความรู้สึก  แสดงถึงความสามารถในการคิดสร้างสรรค์รูปร่างและรูปทรงขึ้นใหม่  จากความคิดและความรู้สึกอันทำให้ได้ความงามที่แปลกออกไป

         วาดเส้น  มีเรื่องของแสงและเงาเป็นหลักสำคัญ  เป็นพื้นฐานแรกของการเข้าสู่การทำงานทางด้านทัศนศิลป์และออกแบบ  เป็นการแสดงออกโดยการสร้างภาพให้มองเห็นความคิดและความรู้สึก ของผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
         เมื่อสังเกตและฝึกฝนการวาดเส้นจนชำนาญ ท่านจะสามารถมองเห็นภาพแสงเงาที่เกิดขึ้นในธรรมชาติได้ง่ายและชัดเจนขึ้น  ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดความรู้สึกที่ท่านมีต่อสิ่งที่พบเห็นเบื้องหน้าของท่านออกมาเป็นงานศิลปะ  เรียกได้ว่า  ท่านมีสายตาศิลปะและเป็นศิลปินได้  

**************************