วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วาดเส้น ลอกภาพ ลงสีดอกกุหลาบ

วาดเส้น ลอกภาพ ลงสีดอกกุหลาบ
เริ่มจากการคะเนลักษณะของดอกด้วยรูปทรงง่ายๆ จากนั้นจึงร่างกลีบด้วยการแบ่งส่วนดอกโดยใช้เส้นง่ายๆก่อน แล้วจึงตกแต่งเส้นให้สวยงาม
 
เติมกลีบเลี้ยง ก้านชูดอก กำหนดตำแหน่งใบชุดที่ 1 ด้วยเส้นกลางใบ แล้ววาดเส้นรอบรูปของใบตาม
 
จากนั้นจึงวาดใบชุดต่อๆมา

จนเป็นภาพสำเร็จ

แล้วจึงลอกภาพลงกระดาษสำหรับสีน้ำและลงสี
สำหรับกระดาษที่ใช้ จะใช้กระดาษสำหรับวาดภาพสีน้ำโดยตรง หรือกระดาษสำหรับวาดสีอะคริลิคแต่นำมากลับด้านหลังวาดเอาก็ได้ค่ะ (เช่นเวลาจะวาดคาร์ดทำมือ อาจใช้กระดาษสำหรับสีอะคริลิคซึ่งมีความหนาสูงสุดถึง 400 แกรม ความหนาของกระดาษจะสะดวกต่อการทำงาน และเหมาะจะส่งทางไปรษณีย์มาก)
อุปกรณ์ในการทำงานก็มี ดินสอ HB กระดาษลอกลาย ยางลบดินสอ เทปใส
เริ่มจากเมื่อวาดภาพที่ต้องการเสร็จแล้ว ลอกภาพด้วยกระดาษลอกลายและดินสอดำก่อน

พลิกด้านหลังของกระดาษที่ลอกลายไว้แล้วขึ้น ใช้ดินสอดำฝนคร่อมทับลายเส้นที่เห็นจนทั่ว

ภาพนี้แสดงภาพด้านหน้าและด้านหลังของกระดาษที่ฝนดินสอทับลายเส้นเสร็จแล้ว

นำกระดาษลอกลายที่ฝนทับลายเส้นด้านหลังแล้ว ไปวางบนกระดาษที่ต้องการวาดภาพ โดยวางด้านหน้าของกระดาษขึ้น อาจใช้เทปใสช่วยยึดเพื่อกันเลื่อน แต่ควรระวังในการลอกเทปออก อย่าให้เทปทำลายหน้ากระดาษสีน้ำ ใช้ดินสอวาดทับตามเส้นอีกครั้ง แรงกดของดินสอ จะผลักสีดำของรอยฝนที่ด้านหลังให้ไปเกิดเป็นลายเส้นบนกระดาษ


เมื่อยกกระดาษลอกลายออก จะเห็นภาพวาดเพียงลางๆ

ที่พร้อมให้เราลงสีค่ะ
                                                               

สีที่ใช้ ใช้สีเหลืองมะนาว ส้มอมแดง ม่วงแดง หากดอกบานเร็ว เกรงว่าเมื่อวาดเสร็จแล้ว ดอกจะค่อยๆบานจนรูปร่างเปลี่ยนแปลง แสงเงาอาจเปลี่ยนไป จนไม่ทราบว่าจะลงสีอย่างไร ก็ใช้ดินสอลงแสงเงาคร่าวๆ ไว้ก่อนก็ได้ค่ะ (ไม่ต้องกังวลว่าจะแรเงาไม่สวย เราทำงานคนเดียว ทำแบบที่ว่ารู้คนเดียวก็ได้) การแรเงา นอกจากจะเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ยังช่วยฝึกการสังเกตุตำแหน่งของแสงเงาอีกด้วย
 
การลงสี สีที่ใช้มีสีเหลืองมะนาว  สีม่วงแดง  สีส้มอมแดง
ให้สีเหลืองมะนาวที่ผสมให้สี อ่อนลงเป็นสีที่ 1, ผสมสีม่วงแดงในสีมะนาวเล็กน้อย(ไม่เกิน 5 %) จนเป็นสีเหลืองที่คล้ำขึ้น ให้เป็นสีที่ 2, ส่วน สีส้มอมแดง เป็นสีที่ 3
      
       สี 1                  สี 2                      สี 3
การวาดภาพพฤกษศาสตร์จริงๆ เนื่องจากแทบจะเป็นการ “ถ่ายภาพ” พืชพรรณตามธรรมชาติด้วยสี จึง ไม่นิยมเว้นพื้นที่ให้เห็นเป็นสีขาวของกระดาษค่ะ เพราะในธรรมชาติเราคงหาลักษณะอย่างนั้นในพืชแทบไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่เคร่งครัด ว่าเราไม่ใช่ Botanical Artist ที่กำลังวาดภาพวาดพฤกษศาสตร์ ภาพที่วาดไม่จำเป็นต้องเหมือนธรรมชาติเสียทีเดียว ถ้าจะเว้นให้เห็นสีขาวของกระดาษบ้าง ก็แล้วแต่ความชอบใจค่ะ
เวลาทำงาน ดิฉันมักใช้พู่กัน 2 อัน ในขณะเดียวกัน  อันหนึ่งสำหรับแต้มสีลงในพื้นที่ทำงาน อีกอัน เป็นพู่กันชื้น ไว้ใช้สำหรับเกลี่ยสีให้กลมกลืนไปกับพื้นเดิม
เราจะ ลงสีไปทีเดียวทั้งภาพ แล้วค่อยๆแต่งเป็นส่วนๆค่ะ  โดย ผสมสีเหลืองกับน้ำจนเป็นสีที่ค่อนข้างจาง นำมา ทาให้เต็มดอก ทิ้งให้แห้ง (1)

แล้วจึงเริ่มแต่งเงาทีละกลีบ โดยทาน้ำลงในเฉพาะกลีบที่จะทำงาน ใช้พู่กันอันหนึ่งแตะสี 2  ลงในตำแหน่งเงา ใช้พู่กันชื้นอีกอัน เกลี่ยเงาให้กลมกลืน ทำจนเต็มดอก (2)

จากนั้นจึงแต่งสีของ ขอบกลีบดอก โดยขอบกลีบที่พับงอ ทาน้ำให้ในบริเวณที่จะทำงานให้เต็ม แล้วแต้มสี 3 ลงไป ปล่อยให้สีกระจายไปตามน้ำ (3)
 
สำหรับขอบกลีบปกติ ทาน้ำให้มีพื้นที่มากกว่าพื้นที่ที่จะลงสี แต้มสี 3 ตามปลายกลีบ เนื่องจากเราตั้งกระดาษให้เอียงเล็กน้อยอยู่แล้ว สีจะค่อยๆซึมลงไปสู่ภายในตัวกลีบดอกเอง แต่อาจใช้ปลายพู่กันเกลี่ยช่วยบ้างก็ได้ เมื่อเติมสีขอบกลีบจนเต็มดอกแล้ว (4)

จึงเติมเงาดอกเพิ่มเพื่อให้ ดอกดูมีมิติขึ้นด้วยสี 2  โดยใช้พู่กันอันหนึ่งแต้มสีลงไปในตำแหน่งที่ต้องการ แล้วใช้พู่กันชื้นอีกอันรีบเกลี่ยให้สีกลมกลืนไปกับพื้นเดิม โดยจะทาน้ำก่อนหรือไม่ก็ได้ (5)
 
 เมื่อลงสีดอกเสร็จ ก็มาลงสีใบค่ะ
การลงสีใบด้วยวิธีนี้ แม้จะไม่มีเส้นใบ แต่เราใช้ก็วิธีนี้ได้ตามต้องการ หากยังไม่สามารถควบคุมความชื้นในพู่กัน หรือกะเวลารอภาพหมาดพอเหมาะ เพื่อลากพู่กันชื้นผ่านใบ ให้เกิดเป็นเส้นใบได้ การทำงานด้วยวิธีนี้จะเหมาะมากค่ะ
 
เริ่มจากทาสีฟ้าจางๆลงในตัวใบเพียงครึ่งซีก
 
รีบแตะสีเขียวอมเหลืองที่ค่อน ข้างข้นลงไป โดยใช้พู่กันปลายค่อนข้างแหลม ลากสีเป็นรอยสั้นๆออกจากด้านข้างของใบเพื่อสร้างรอยหยักของขอบใบ แล้วเติมสีนี้ลงในตัวใบเช่นกัน ทิ้งบางส่วนให้เห็นเป็นสีฟ้าเดิมไว้ เพื่อให้เป็นบริเวณแสงจัด (ควรเว้นเป็นแนวฝกล้ขอบใบ ด้านใดด้านหนึ่งด้วย เพื่อให้ตัวใบดูมีความหนา)
 
รีบแต้มสีเขียวเข้มตามในขณะที่สียังหมาดอยู่ เพื่อให้สีผสานกันดี
  
ใช้พู่กันแตะสีเขียวเข้มนี้ ผสมกับสีแดงเล็กน้อย เพื่อให้ได้สีเขียวที่เข้มขึ้น แต้มลงในบริเวณที่เป็นเงามืด
 
  
ทาสีฟ้าที่บนใบอีกซีก เว้นช่องว่างห่างจากใบซีกแรกให้เป็นแนวบางๆ (เพื่อที่เมื่อวาดเสร็จ เราจะเติมสีเหลืองอมเขียวอ่อนๆ เพื่อให้เป็นเส้นกลางใบ)
 
 ทาสีใบอีกซีกด้วยวิธีเดิม
เมื่อวาดเสร็จทั้งภาพ จึงค่อยเติมสีตรงแนวที่เว้นไว้ จนได้ภาพที่เสร็จสมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น